วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552
วิปัสสนาญาณ ๙
วิปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันดับเนื่องในวิปัสสนา, ญาณที่ทำความเห็นแจ้งให้เกิด หรือความรู้ที่เป็นเหตุให้เกิดความเห็นสังขารทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่าตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ มี ๙ อย่าง
๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความเกิดทั้งความดับ หมายถึง ญาณที่พิจารณาเห็นความเกิด และความดับ เป็นการกำหนดพิจารณาสังขารจนเห็นแจ้งว่า สังขารทั้งปวงเมื่อเกิดแล้วก็ดับทั้งหมด ไม่มีอะไรที่เหลืออยู่เพราะสิ่งไหนมีการเกิด สิ่งนั้นก็มีการดับ
๒.ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงความดับ หมายถึง ญาณที่พิจารณาเห็นความดับ เป็นการพิจารณาที่ข้ามล่วงการเกิด พิจารณาเห็นเฉพาะความดับอย่างเดียว จนเห็นแจ้งว่า สังขารทั้งปวงไม่มีอะไรเหลืออยู่ ต้องดับหมด แตกสลายไปทั้งหมด
๓.ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฎเป็นของน่ากลัว หมายถึง ญาณที่พิจารณาเห็นภัยในสังขารโดยเห็นว่าเป็นของน่ากลัว เป็นการพิจารณาเห็นความสิ้นไป เสื่อมไปแตกสลายไปของสังขาร ปรากฎเป็นสภาวะที่น่ากลัวว่า สังขารทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และที่จักเกิดขึ้นในอนาคตล้วนมีความดับเป็นที่สุดเหมือนกัน
๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ หมายถึง ญาณที่พิจารณาเห็นโทษของสังขาร เป็นการพิจารณาเห็นโทษเพราะการเกิดขึ้นแปรเปลี่ยนแล้วก็ดับไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สิ้นสุดของสังขาร
๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความเบื่อหน่าย หมายถึง ญาณที่พิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นความเบื่อหน่ายที่เกิดจากการพิจารณาสังขารโดยเห็นว่าเป็นภัยที่น่ากลัว มีแต่โทษส่วนเดียวจนเกิดความอิดหนาระอาใจ เบื่อหน่ายในสังขาร
๖.มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย หมายถึง ญาณที่พิจารณาเพื่อหาทางเปลื้องตนไม่ให้พัวพันติดข้องอยู่ในสังขาร เป็นความต้องการที่อยากสลัดทิ้งสังขารเพราะเกิดความเบื่อหน่าย อยากเปลื้องตนให้พ้นจากการเกิดและดับของสังขาร
๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง หมายถึง ญาณที่พิจารณาเลือกหาทางที่จะปลดเปลื้องตน เป็นการแสวงหาแนวทางเปลื้องตนให้หลุดพ้นจากสังขารที่มีแต่ความแตกสลายเป็นที่สุดนั้น จึงหันกลับไปยกสังขารขึ้นมาพิจารณา กำหนดด้วยไตรลักษณ์อีกครั้งหนึ่ง
๘.สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยเสีย หมายถึง ญาณที่พิจารณาเห็นความจริงของสังขารแล้ววางใจให้เป็นกลางในสังขารทั้งหลายได้ เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงที่เกิดจากการพิจารณาเห็นสังขารว่ามีภัยรอบด้าน น่ากลัว ปะปนอยู่กับทุกข์โทษ อยากหนีให้พ้นตามลำดับ จนจิตเกิดความวางเฉย ไม่อาลัยหรือยินดียินร้ายในสังขาร ไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา ละเลิกจากการเกาะเกี่ยวกับสังขารลงได้
๙.สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ หมายถึง ญาณที่พิจารณาอนุโลมไปตามสัจจะเป็นการพิจารณาสังขารน้อมเข้าหาอริยสัจ คือ "เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาขั้นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป"
( พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,๒๕๔๓:๒๖๙ )
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วิปัสสนาญาณนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีบาทอันมั่นคงบริบูรณ์แล้ว คือ ผู้ที่ได้ฌานแล้ว
ตอบลบ